เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส1 ธรรมรส2 วิมุตติรส3
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน 4 อัปปมัญญา 4
อรูปสมาบัติ 4 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ 8 อภิภายตนะ4 8
อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา 10
กสิณสมาบัติ5 10 อานาปานสติสมาธิ6 อสุภสมาบัติ7 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. 50/266)
2 ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. 50/266)
3 วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. 50/266)
4 อภิภายตนะ คือฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. 13/249/224)
5 กสิณสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน 10 มีปฐวีกสิณฌานเป็นต้น (ขุ.ม.อ. 50/266)
6 อานาปานสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. 50/266)
7 อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้
เห็นสภาพที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ 10 อย่าง คือ (1) ซากศพที่เน่าพอง (2) ซากศพ
ที่มีสีเขียว (3) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (4) ซากศพที่ขาดกลางตัว (5) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (6) ซาก
ศพที่มีมือเท้าศีรษะขาด (7) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (8) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (9) ซากศพ
ที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (10) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. 1/102/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :174 }